“ถ้ารู้อย่างงี้….”
แค่ขึ้นต้นประโยคมาแบบนี้ก็ทำให้เราทุกคนนึกที่เรื่องที่เราคิดว่าจะทำแต่ไม่ได้ทำกันแล้วใช่มั้ยล่ะครับ ส่วนจุดๆๆ ที่ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่สิ่งที่เราเป็นเหมือนกันทุกคนคือ เราเสียดายที่ไม่ได้ทำอะไรบางอย่างไป แล้วมานึกเสียดายทีหลัง
ในชีวิตเรามีเรื่องมากมายที่เราจะต้องตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องเลือกโดยตัวเลือกของเราก็อาจจะมีมากกว่า 2 ตัวเลือก ที่จริงแล้วเราทุกคนก็อยากจะเลือกทางที่มันใช่ที่สุดนั้นแหละครับ แต่เราไม่อาจรู้ว่าทางที่เราเลือกผลลัพธ์ของเส้นทางนั้นจะเป็นเช่นไร
เรามีเหตุผลมากมายที่จะเลือกทางนี้ ไม่เอาทางนั้น หรือเห็นว่าทางนู้นดีกว่า ซึ่งหนึ่งในเหตุผลแรกๆที่เรายกมานั้นคือ การกลัว(ทำ)มันผิดพลาด ทำให้เราไปเลือกหนทางที่ง่ายกว่า ทั้งๆที่ทางยากอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีก็ได้
แล้วทำไมเราถึงกลัวการผิดพลาดล่ะ
อันนั้นต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนเรายังเด็กๆ นั้นคือที่โรงเรียนครับ โรงเรียนทำให้เรากลัวการผิดพลาด อ่ะ คุณอาจจะสงสัยว่าโรงเรียนผิดอะไร คือจริงๆแล้วจะเรียกว่าผิดก็ไม่ใช่ซะทีเดียว แต่โรงเรียนสอนให้เรากลัวการทำผิดครับ เอาตัวอย่างง่ายๆ เช่น การทำข้อสอบ คนทำถูกได้คะแนนเยอะ คนทำผิดได้คะแนนน้อย ถ้านักเรียนทำผิดจะโดนว่ากล่าวตักเตือน ถ้านักเรียนทำถูกจะได้รับคำชม ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้มันค่อยๆฝังเข้ามาในสมองของเรา คอยย้ำเตือนว่าห้ามทำผิดพลาดโดยเด็ดขาด
ผมไม่ได้บอกว่าโรงเรียนไม่ดีนะครับ ข้อดีของมันก็มีเยอะแยะ โรงเรียนสอนเราเรื่องการเข้าสังคม สอนเราเรื่องการวางตัว สอนเรื่องวิชาการเพื่อให้เราใช้มันทำมาหากิน สอนความรู้ต่างๆ ทำให้เรามีเพื่อน ทำให้เราสนุกสนาน แต่ทุกสิ่งย่อมทั้งสองด้าน ทั้งข้อดีและข้อเสีย
ถ้าคุณอยากได้ตัวอย่างคนที่คิดว่าความผิดพลาดของเขาคือความสำเร็จแล้วล่ะก็ ผมขอแนะนำ โทมัส อันวาเอดิสัน ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟคนแรกของโลก รู้มั้ยครับกว่าจะเป็นหลอดไฟที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ เขาทำลองล้มเหลวไปกว่าหมื่นครั้ง พอมีคนถามว่าทำไมเขาถึงยังทำอยู่ เขาก็ตอบมาว่า
“ผมไม่ได้ล้มเหลว 10000 ครั้ง แต่พบวิธีที่ทำให้มันไม่สำเร็จ 10000 วิธีต่างหาก”
ดังนั้น อย่ากลัวที่จะล้มเหลวครับ ความสำเร็จไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วได้เลย ความสำเร็จเกิดจากการที่เอาความล้มเหลวมาทับถมกันเพื่อเป็นบันไดให้เราก้าวขึ้นไปหาความสำเร็จครับ